โทรศัพท์: 090-808-9978, 089-406-0524
แผนกกรุ๊ปเหมา, กรุ๊ปส่วนตัว: 02-444-5182

 


อนุสรณ์สถานยุทธนาวีเกาะช้าง เป็นพื้นที่การรบที่เกาะช้างเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 ระหว่างเรือรบไทย 3 ลำ ดังมีรายนามของเรือดังนี้เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรี กับเรือรบฝรั่งเศสจำนวนประมาณ 13 ลำ ในการรบครั้งนั้นวีรชนทหารไทยสละชีวิตอย่างกล้าหาญรวม 36 นาย และได้ฝากวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ด้วยการขับไล่ข้าศึกที่กำลังมากกว่าจนล่าถอยไป ขอสดุดีวีรชน.

การรบที่เกาะช้าง หรือที่รู้จักกันในนาม ยุทธนาวีเกาะช้าง เป็นเหตุการณ์รบทางเรือที่เกิดขึ้นในกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ไทยเรียกร้องให้ปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดน ไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส เสียใหม่ โดยใช้แนวร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักความยุติธรรม และให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่ฝรั่งเศสยึดไปจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ให้ไทย ยุทธภูมิในการรบครั้งนี้เกิดขึ้นที่บริเวณด้านใต้ของเกาะช้าง จังหวัดตราด เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 และถือเป็นการรบทางทะเลครั้งเดียวในประวัติศาสตร์กองทัพเรือไทย และรัฐบาลวิชีฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

อำเภอเกาะช้าง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตราด เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาทั้งหมด 52 เกาะของจังหวัดและเป็นเกาะใหญ่อันดับสองของประเทศไทย รองลงมาจากเกาะภูเก็ต มีเนื้อที่ประมาณ 429 ตารางกิโลเมตร ลักษณะของเกาะส่วนใหญ่เป็นเขาสูงมีผาหินสลับซับซ้อน สภาพป่าโดยทั่วไปอุดมสมบูรณ์ มีน้ำตกหลายแห่งบนเกาะ ชายหาด และปะการังที่สวยงามอยู่ทางด้านตะวันตก นับว่าเป็นแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

การรบทางทะเลครั้งนี้ ในบทความเรื่อง "การรบที่เกาะช้าง" (ข้อมูลอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือ - ตีพิมพ์ในหนังสือ เมื่อธนบุรีรบ) ระบุว่า การรบครั้งนี้ควรเรียกชื่อว่า "การรบที่เกาะช้าง" เนื่องจากเป็นเพียงการรบกันระหว่างกองกำลังทางเรือส่วนน้อยของฝ่ายไทย กับกองกำลังทางเรือส่วนใหญ่ของฝ่ายฝรั่งเศสเท่านั้น ไม่ถึงขั้นการรบโดยการทุ่มเทกำลังส่วนใหญ่ของทั้งสองฝ่าย และผลของสงครามไม่อาจตัดสินผลสงครามได้อย่างเด็ดขาด อีกทั้งตามปกติแล้ว จะต้องมีเรือประจัญบานเข้าร่วมรบด้วย จึงจะนับว่าการรบแบบยุทธนาวีได้[3] อย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังนิยมเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า "ยุทธนาวีเกาะช้าง" ดังปรากฏหลักฐานในคำขวัญประจำจังหวัดตราดว่า "เมืองเกาะครึ่งร้อย พลอยแดงค่าล้ำ ระกำแสนหวาน หลังอานหมาดี ยุทธนาวีเกาะช้าง สุดทางบูรพา"

กำลังรบของทั้งสองฝ่าย
ฝ่ายไทย (ราชนาวีไทย)
เรือหลวงธนบุรี ก่อนเข้าร่วมยุทธนาวีเกาะช้าง 4 วัน
ฝ่ายไทยได้จัดกำลังเรือ 1 หมวด เพื่อรักษาพื้นที่อ่าวไทยบริเวณเกาะช้าง ประกอบด้วย

เรือหลวงธนบุรี เรือปืนยามฝั่ง ระวางขับน้ำ 2,350 ตัน มีนาวาโทหลวงพร้อมวีระพันธ์ (ได้เลื่อนยศเป็นนาวาเอกภายหลังสิ้นสุดกรณีพิพาทอินโดจีน) เป็นผู้บังคับการเรือและผู้บังคับหมวดเรือ
เรือหลวงสงขลา เรือตอร์ปิโด ระวางขับน้ำ 460 ตัน มีนาวาตรีชั้น สิงหชาญ เป็นผู้บังคับการเรือ
เรือหลวงชลบุรี เรือตอร์ปิโดรุ่นเดียวกับเรือหลวงสงขลา ระวางขับน้ำ 460 ตัน มีเรือเอกประทิน ไชยปัญญา เป็นผู้บังคับการเรือ เรือหลวงระยอง เรือตอร์ปิโดรุ่นเดียวกับเรือหลวงสงขลา ระวางขับน้ำ 460 ตัน มีนาวาตรีใบ เทศนะสดับ เป็นผู้บังคับการเรือ เรือหลวงหนองสาหร่าย ระวางขับน้ำ 460 ตัน มีเรือเอกดาวเรือง เพชรชาติ เป็นผู้บังคับการเรือ เรือหลวงเทียวอุทก ระวางขับน้ำ 50 ตัน


ฝ่ายฝรั่งเศส (หมวดเรือเฉพาะกิจที่ 7)

เรือลาลาม็อต-ปีเก ขณะจอดอยู่ในเวียดนาม เรือสลุปฝรั่งเศส
เรือลาลาม็อต-ปีเก (Lamotte Picquet) เรือลาดตระเวนเบา ระวางขับน้ำ 7,880 ตัน ใช้เป็นเรือธง (เรือบัญชาการ) มีนาวาเอกเรจี เบรังเยร์ (CV Regis Beranger)[note 1] เป็นผู้บังคับการเรือและผู้บังคับหมวดเรือเฉพาะกิจที่ 7

.

เรืออามิราล ชาร์เนร์ (Amiral Charner) เรือสลุป ระวางขับน้ำ 2,165 ตัน มีนาวาเอกตุสแซง เดอ กีแอฟร์คูร์ (CV Toussaint de Quievrecourt)[note 1] เป็นผู้บังคับการเรือ

.

เรือดูมองต์ ดูร์วิลล์ (Dumont d'Urville) เรือสลุปชั้นเดียวกันกับเรืออามิราล ชาร์เนร์ ระวางขับน้ำ 2,165 ตัน มีนาวาโทเลอคาลเวซ (CF Le Calvez)[note 1] เป็นผู้บังคับการเรือ

.
เรือมาร์น (Marne) เรือช่วยรบ (ฝรั่งเศสจัดเป็นเรือสลุป) ระวางขับน้ำ 644 ตัน มีนาวาตรีแมร์คาดิเยร์ (CC Mercadier)[note 1] เป็นผู้บังคับการเรือ

.
เรือตาอูร์ (Tahure) เรือช่วยรบ (ฝรั่งเศสจัดเป็นเรือสลุป) ระวางขับน้ำ 600 ตัน มีนาวาตรีมาร์ก (CC Marc)[note 1] เป็นผู้บังคับการเรือ เรือสินค้าขนาดใหญ่ติดอาวุธ 1 ลำ เรือดำน้ำ 1 ลำ

.

เช้าวันที่ 17 มกราคม ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทางเรือส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในอินโดจีนในบังคับบัญชาของนาวาเอกบรังเยร์เข้ามาในน่านน้ำไทยทางด้านเกาะช้าง ด้วยความมุ่งหมายที่จะระดมยิงหัวเมืองชายทะเล ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นประการสำคัญ เพื่อกดดันให้กำลังทหารของไทยที่รุกข้ามชายแดนต้องถอนกำลังกลับมา

กำลังทางเรือของฝรั่งเศสได้อาศัยความมืด และความเร็วรุกล้ำเข้ามาทางด้านใต้เกาะช้าง มีจำนวนด้วยกันทั้งหมด 7 ลำ คือ เรือลาดตระเวนลาม็อต-ปีเก เรือสลุป 2 ลำ เรือปืน 4 ลำ เรือเหล่านี้ได้แยกออกเป็น 3 หมู่ หมู่ที่ 1 มี เรือลาม็อต-ปีเกลำเดียวเข้ามา ทางช่องด้านใต้ระหว่างเกาะคลุ้มกับเกาะหวาย หมู่ที่ 3 มีเรือสลุป 1 ลำ กับเรือปืนอีก 3 ลำ เข้ามาทางช่องด้านตะวันตก ระหว่างเกาะคลุ้มกับแหลมบางเบ้า เกาะช้าง ส่วนเรือดำน้ำ และเรือสินค้าติดอาวุธ คงรออยู่ด้านนอกในทะเล และไม่ได้เข้าทำการรบ

เวลา 06:05 น. เครื่องบินตรวจการณ์ฝรั่งเศสแบบ Potez จากฐานทัพเมืองเรียมในกัมพูชา บินตรวจการผ่านกองเรือไทยและยืนยันตำแหน่งเรือตอร์ปิโดไทยสองลำ เนื่องจากในคืนนั้นเรือหลวงชลบุรีพึ่งเดินทางมาถึงเพื่อเปลี่ยนผลัดกับเรือหลวงสงขลาซึ่งมีกำหนดการกลับไปฐานทัพเรือสัตหีบ สร้างความประหลาดใจให้แก่ฝ่ายฝรั่งเศส เพราะรายงานก่อนหน้าระบุจำนวนเรือตอร์ปิโดไทยเพียงลำเดียว

เวลา 06:10 น. เครื่องบินทะเลฝรั่งเศสแบบลัวร์ 130 ทำการทิ้งระเบิดโจมตีเรือตอร์ปิโดไทยแต่ถูกยิงตกด้วยปืนต่อสู้อากาศยาน เรือฝรั่งเศสรู้จำนวนเรือไทยจึงเดินหน้าเข้าตีตามแผน แต่กองเรือไทยเริ่มไหวตัวแล้ว และได้โหมเร่งความดันไอน้ำเพื่อเตรียมปฏิบัติการ เมื่อสังเกตเห็นข้าศึกอยู่ในพิสัย เรือหลวงสงขลาจึงเปิดฉากยิงต่อสู้กับเรือลาม็อต-ปีเกที่มีอาวุธหนักกว่ามากแต่ไม่มีมุมยิงตอร์ปิโด เนื่องจากเรือหลวงสงขลาจอดโดยหันหัวเรือไปทางฝั่งเกาะช้าง กระสุนจากเรือลามอตต์ปิเกต์ทำความเสียหายแก่เรือหลวงสงขลา เกิดไฟไหม้กลางลำเรือ น้ำทะลักเข้าตัวเรือ ยุ้งกระสุนน้ำท่วม ลูกเรือเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นาวาตรีชั้น สิงหชาญ ผู้บังคับการเรือหลวงสงขลา สั่งสละเรือใหญ่ เวลา 06:45 น. หลังจากยืนหยัดทำการรบได้ 35 นาที

ในขณะเดียวกัน เรือหลวงชลบุรีได้ทำการยิงต่อสู้กับหมู่เรือสลุปของฝรั่งเศสที่ตรงเข้ามารุมโจมตีถูกกระสุนที่ท้ายเรือและกลางเรือ เกิดระเบิดไฟลุกไหม้ ลูกเรือเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายนาย เรือเอกประทิน ไชยปัญญา ผู้บังคับการเรือหลวงชลบุรี สั่งสละเรือใหญ่เวลา 06:53 น. หลังจากยืนหยัดทำการรบได้ประมาณ 40 นาที ซึ่งภายหลังมีรายงานจากฝ่ายไทยว่ากองเรือฝรั่งเศสได้กระทำการผิดธรรมเนียมการรบทางทะเล โดยใช้ปืนกลกราดยิงทหารเรือไทยที่ลอยคออยู่ในทะเลอีกด้วย


นาวาโท หลวงพร้อมวีระพันธ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรี (เสียชีวิตในการรบ)
เวลา 06:20 น. นาวาโท หลวงพร้อมวีระพันธ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรี สั่งถอนสมอและเคลื่อนลำประจำสถานีรบ และสั่งให้เรือหลวงหนองสาหร่ายและเรือหลวงเทียวอุทกซึ่งเป็นเรือเล็กให้ถอนตัวออกไปจากสมรภูมิ


การจำลองฉากของสะพานเดินเรือของเรือหลวงธนบุรีในยุทธนาวีเกาะช้าง ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
เวลา 06:38 น. เรือหลวงธนบุรีประจันหน้าเข้ากับกองเรือฝรั่งเศสและทำการยิงตอบโต้กับเรือลาม็อต-ปีเกที่ระยะ 10,000 เมตร การรบเป็นไปอย่างหนักขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อหมู่เรือสลุปของฝรั่งเศสเข้าทำการร่วมรบรุมยิงเรือหลวงธนบุรีด้วย กระสุนนัดหนึ่งจากเรือลาม็อต-ปีเกได้ตกใต้สะพานเดินเรือและเกิดระเบิดขึ้น ทำให้ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรีรวมทั้งนายทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสหลายนาย ส่งผลให้การบังคับบัญชา สื่อสาร และควบคุมหยุดชะงัก ระบบถือท้ายเสียหายบังคับทิศทางไม่ได้

เวลา 07:15 น. ผลจากการถูกรุมยิงทำให้เกิดไฟไหม้ใหญ่ขึ้นบนเรือหลวงธนบุรี แต่ทหารบนเรือไทยที่เหลือเพียงลำเดียวยังคงทำการยิงต่อสู้ โดยสลับเปลี่ยนเป้าหมายไปที่เรือฝรั่งเศสทั้งสามลำ เมื่อระบบถือท้ายเสียหาย ป้อมปืนไม่ทำงาน (ทหารฝ่ายไทยต้องใช้วิธีการหมุนป้อมปืนด้วยมือเอง) ทำให้การยิงโต้ตอบของเรือหลวงธนบุรีเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ถึงกระนั้นก็ยังสร้างความเสียหายให้แก่เรือลาม็อต-ปีเกได้ในที่สุด

เวลา 07:40 น. มีเครื่องบิน 1 ลำบินเข้ามาทิ้งระเบิดทะลุดาดฟ้าเรือหลวงธนบุรี มีลูกเรือเสียชีวิต 3 นายและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ในขณะที่เรือทั้งหมดยังทำการรบอย่างติดพัน ป้อมปืนที่เหลือของเรือหลวงธนบุรีไม่สามารถยิงได้อย่างแม่นยำเนื่องจากไม่อาจบังคับเรือได้ตรงทิศทาง เรือหลวงธนบุรีได้แล่นลำเข้าสู่บริเวณน้ำตื้น กองเรือรบฝรั่งเศสจึงได้ส่งสัญญาณถอนตัวจากการรบ

เวลา 07:50 น. หลังจากถอนตัวจากการรบ เรือลามอตต์ปิเกต์ได้ยิงตอร์ปิโดอีกชุดเข้าหาเรือหลวงธนบุรีที่ระยะ 15,000 ม. แต่พลาดเป้า ในขณะที่เรือหลวงธนบุรียังทำการยิงต่อสู้อย่างต่อเนื่อง และในที่สุดเรือทั้งหมดได้เคลื่อนออกนอกพิสัยทำการรบ

เวลา 08:20 น. เรือหลวงธนบุรีหยุดยิง

เวลา 08:40 น. นาวาเอกเรจี เบรังเยร์ ออกคำสั่งให้กองเรือฝรั่งเศสมุ่งหน้ากลับฐานทัพ เนื่องจากเกรงกำลังหนุนของไทย โดยเฉพาะเรือดำน้ำ เนื่องจากฝ่ายไทยรู้ตัวแล้ว ในเวลาเดียวกัน หมู่บินที่ 2 แบบ Hawk 3 จากกองบินจันทบุรีได้มาถึงและทำการทิ้งระเบิดโจมตีเรือฝรั่งเศส แต่ถูกสกัดด้วยปืนต่อสู้อากาศยานอย่างหนัก ระเบิดลูกหนึ่งตกลงบนเรือลาม็อต-ปีเก แต่ไม่ระเบิด ในเวลา 09:40 น. ฝูงบินทิ้งระเบิดบ่ายหน้ากลับ ทำให้กองเรือฝรั่งเศสหลุดรอดออกไปได้ และมุ่งหน้ากลับไปไซ่ง่อน

อนุสรณ์แห่งยุทธนาวีเกาะช้าง / อนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี

แผ่นป้ายอนุสรณ์การรบที่เกาะช้างของกองทัพเรือฝรั่งเศส ฝ่ายไทยได้จัดสร้างอนุสรณ์สถานยุทธนาวีเกาะช้างไว้ 2 แห่ง คือ อนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี ที่โรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ และอนุสรณ์สถานยุทธนาวีเกาะช้าง ที่แหลมงอบ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นสถานที่ที่เรือหลวงธนบุรีถูกลากจูงมาเกยตื้นเมื่อเย็นวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484

สำหรับฝ่ายฝรั่งเศส ได้มีการจัดทำป้ายอนุสรณ์ระลึกถึงทหารเรือสังกัดกองกำลังทางเรือฝรั่งเศสภาคตะวันออกไกล (Forces Navales d'Extrême-Orient) ที่เสียชีวิตในการรบครั้งนี้ ซึ่งจัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปีแห่งการยุทธนาวีเกาะช้างเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2544

.

ประวัติเกาะช้าง
ท้องที่อำเภอเกาะช้างเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอแหลมงอบ ทางราชการได้แบ่งพื้นที่การปกครองออกมาตั้งเป็น กิ่งอำเภอเกาะช้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2537 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน ปีเดียวกัน[1] และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอเกาะช้าง โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ปีเดียวกัน[2]

การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอเกาะช้างแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 2 ตำบล 9 หมู่บ้าน ได้แก่

1. ตำบลเกาะช้าง มี 4 หมู่บ้าน คือ

หมู่ที่ 1 บ้านคลองนนทรี
หมู่ที่ 2 บ้านด่านใหม่
หมู่ที่ 3 บ้านคลองสน
หมู่ที่ 4 บ้านคลองพร้าว

2. ตำบลเกาะช้างใต้ มี 5 หมู่บ้าน คือ

หมู่ที่ 1 บ้านบางเบ้า
หมู่ที่ 2 บ้านสลักเพชร
หมู่ที่ 3 บ้านเจ็กแบ้
หมู่ที่ 4 บ้านสลักคอก
หมู่ที่ 5 บ้านสลักเพชรเหนือ
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอเกาะช้างประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่ง ได้แก่

เทศบาลตำบลเกาะช้าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะช้างทั้งตำบล
เทศบาลตำบลเกาะช้างใต้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะช้างใต้ทั้งตำบล

.
สถานที่สำคัญ: อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง
เหตุการณ์สำคัญ: การรบที่เกาะช้าง หรือที่รู้จักกันในนาม ยุทธนาวีเกาะช้าง

.
การท่องเที่ยว
เกาะช้าง เดิมเป็นเกาะที่ไม่มีชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัย หากมีความสำคัญในฐานะที่เป็นท่าจอดเรือหลบลมมรสุม เป็นแหล่งเสบียงอาหาร และน้ำจืดโดยเฉพาะบริเวณอ่าวสลักเพชร หรืออ่าวสลัด เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่โจรสลัด ชาวจีนไหหลำ และญวน ปัจจุบันบนเกาะช้างมีประชาชนอาศัยอยู่ 8 หมู่บ้าน

เกาะช้างเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากเกาะภูเก็ต มีเนื้อที่ 429 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเขาสูงมีผาหินสลับซับซ้อนยอดเขาที่สูงที่สุด ได้แก่ เขาสลักเพชร มีความสูง 744 เมตร สภาพป่าโดยทั่วไปอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขา เป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำลำธาร ทำให้มีน้ำตกหลายแห่งบนเกาะ ชายหาด และปะการังที่สวยงามอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะ

ภูมิอากาศ
ฤดูฝน จะเริ่มตั้งแต่ เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ได้รับอิทธิพลจาก มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีประมาณ 4,700 มิลลิเมตร
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์ ในระยะนี้มีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมพื้นที่ ทำให้อุณหภูมิลดลงอากาศหนาวเย็น

.
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคมถึงเดือนเมษายน ในระยะนี้ ดวงอาทิตย์กำลังเคลื่อนผ่านเส้นศูนย์สูตรไปทางซีกโลกเหนือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนค่อนข้างจะแปรปรวน มีฝนตกน้อยทำให้อากาศร้อนอบอ้าว โดยเฉพาะในเดือนเมษายน เกาะช้าง มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27 องศาเซลเซียส

.
ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวของเกาะช้าง จะเริ่มตั้งแต่ตุลาคมไปจนถึงพฤษภาคม จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวกันมาก เนื่องจากประเทศทางแถบยุโรปจะเป็นฤดูหนาว ส่วนช่วงมิถุนายนถึงกันยายนจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวน้อย โรงแรม รีสอร์ต และที่พักจะลดราคาค่าที่พัก

การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ไปตราด

ทางรถยนต์
ถนนบางนา-บางปะกงและถนนสุขุมวิท ผ่านชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทางประมาณ 390 กิโลเมตร
ถนนบางนา-บางปะกงและถนนสุขุมวิท ผ่านชลบุรี พัทยา ระยอง แกลง จันทบุรี เข้าตัวเมืองจังหวัดตราด รวมระยะทางประมาณ 390 กิโลเมตร หรืออาจใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 จากพัทยาผ่านระยอง อำเภอแกลง รวมระยะทาง 355 กิโลเมตร
ถนนกรุงเทพฯ-ชลบุรี ที่เชื่อมต่อมาจากถนนพระราม 9 ขับตรงมาจนพบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 344 (บ้านบึง-แกลง) ถึงอำเภอแกลง และต่อด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ผ่านอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ข้ามสะพานเวฬุ ผ่านอำเภอเขาสมิง ตรงเข้าตัวเมืองจังหวัดตราด รวมระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร ถ้าไม่ต้องการเข้าสู่ตัวจังหวัดตราด ก็สามารถที่จะตรงไปยังท่าเรือเฟอร์รีได้ โดยเลี้ยวขวามาทางแหลมงอบได้เลย

.
ทางเครื่องบิน
บริษัท บางกอกแอร์เวย์ จำกัด มีเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ-ตราด-กรุงเทพฯ
(อยู่ในเขตอำเภอเขาสมิง) ทุกวัน

จากตราดไปเกาะช้าง
- ท่าเรือ center point
- ท่าเรืออนุสรณ์สถานยุทธนาวีเกาะช้าง (เรือไม้)
- ท่าเรือเกาะช้างเฟอร์รี่ (อ่าวธรรมชาติ)
- ท่าเรือเกาะช้าง

.
สถานที่ท่องเที่ยว
- หาดท่าน้ำ
- หาดไก่แบ้
- หาดคลองพร้าว
- หาดทรายขาว
- อ่าวบางเบ้า
- อ่าวใบลาน
- อ่าวธรรมชาติ
- อ่าวสับปะรด
- หาดบางเบ้า (หมู่บ้านชาวประมง)
- หาดโลนลี่บีช
- หาดทรายขาว
- หาดคลองกลอย
- น้ำตกคลองพลู
- บ้านสลักคอก

.

อ้างอิง: shorturl.at/jCGP3

 


 

สงวนสิทธิ์ตามพรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 ห้ามผู้ใดละเมิดไม่ว่าลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อความ รูปภาพทั้งโดยการเผยแพร่และการอ้างอิง และ/หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด

ผู้เข้าชมวันนี้

224

 ผู้เข้าชมทั้งหมด 2972046